กฎหมายเกี่ยวกับผู้เยาว์

 

โดย..ทนายสุทธิชัย ปัญญโรจน์(อาจารย์โทนี่)

 

การที่บุคคลจะทำนิติกรรมต่างๆ เช่น ทำสัญญาซื้อขายที่ดิน , การขายบ้าน , การรถยนต์,การทำสัญญากู้ยืมเงิน และแม้กระทั่งการแต่งงาน ฯลฯ ได้นั้น บุคคลคนนั้นจะต้องมีอายุเกิน 20 ปี หรือตามกฎหมายมักเรียกว่า บรรลุนิติภาวะ (คนที่อายุไม่ถึง 20 ปี บริบูรณ์ ตามกฎหมายมักเรียกว่า เป็นผู้เยาว์ครับ)

 

แต่อาจมีนิติกรรมบางอย่างที่ผู้เยาว์สามารถกระทำได้ อันได้แก่ นิติกรรมหรือกิจกรรมใดๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้เยาว์โดยไม่ก่อความเสียหายให้แก่ผู้เยาว์  เช่น การรับทรัพย์สินหรือการรับโอนที่ดินโดยเสน่หา และผู้ให้ไม่มีข้อผูกมัดหรือเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น

 

สำหรับบุคคลใดต้องการจะโอนที่ดินให้ผู้เยาว์ หรือ มอบมรดกให้ผู้เยาว์ต้องระวังนะครับ เพราะเมื่อโอนให้ผู้เยาว์แล้ว ไม่สามารถให้ผู้เยาว์โอนคืนหรือให้ผู้เยาว์ทำนิติกรรมใดๆ เกี่ยวกับที่ดินนั้นได้  หรือแม้แต่ผู้เยาว์เสียชีวิตลง ผู้ที่โอนที่ดินให้ผู้เยาว์ก็ไม่สามารถโอนกลับไปให้เจ้าของเดิมได้ แต่ต้องว่ากันด้วยกฎหมายที่ว่าด้วยมรดก คือ มรดกที่ดินดังกล่าวจะต้องตกกับทายาทของผู้เยาว์ที่ตายไปนั้นเอง

 

แต่ในบางกรณี เด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี หรือผู้เยาว์ ก็สามารถทำนิติกรรมหรือบรรลุนิติภาวะได้ เช่น เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 17 ปี แต่งงานและพ่อแม่ ผู้ปกครองให้การยินยอมให้แต่งงาน เมื่อเด็กและเยาวชนคนนั้นแต่งงานเสร็จ ก็ถือว่า บรรลุนิติภาวะหรือสามารถทำนิติกรรมทุกอย่างได้ครับ

 

แต่ต้องเป็นการสมรสแบบถูกต้องตามกฎหมายนะครับ ถึงจะพ้นสภาพการเป็นผู้เยาว์ได้

 

สำหรับการกระทำความผิดต่อเด็กหรือผู้เยาว์ มีหลักการ ลงโทษ…โดยกฎหมายจะดูอายุของเด็กเป็นสำคัญ..หากผู้เยาว์หรือเด็กอายุยิ่งน้อย…ความผิดในการลงโทษยิ่งมาก…เช่น การพรากผู้เยาว์ เยาวชนอายุระหว่าง 15-18 ปี ( ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 บัญญัติว่า “ ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล โดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 4,000 บาท ถึง 20,000 บาท” )  , การพรากผู้เยาว์ เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 บัญญัติว่า “ ผู้ใดโดยปราศจากเหตุอันสมควรพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15  ปี และปรับตั้งแต่ 6,000 บาท ถึง 30,000 บาท” ) ถามว่า โทษคดีที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ทำไมอายุยิ่งน้อย โทษจึงยิ่งมาก เพราะตามหลักของกฎหมาย กฎหมายมักคุ้มครองเด็ก เพื่อไม่ให้ผู้ใหญ่เอาเปรียบ รังแก ทำทารุณ ได้ครับ

 

และจากข้อความข้างต้น ทำไมผมถึงเขียนเด็กบ้าง เยาวชนบ้าง เพราะความหมายของคำว่า

ของคำว่า “ เด็กและเยาวชน ” มีความแตกต่างกันและอีกทั้งมีการนิยามจากหลายหน่วยงาน เช่น

พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชน พ.ศ.2550 (มาตรา 4)

กำหนดความหมายคำว่า

“เด็ก” หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 บริบูรณ์

“เยาวชน” หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ – 25 ปีบริบูรณ์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายของคำว่า “เยาวชน” ไว้หมายถึง บุคคลที่มีอายุเกิน 14 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ และไม่ใช่เป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้วด้วยการสมรส

ขณะที่องค์การสหประชาชาติได้ให้ความหมายสากลของคำว่า “เยาวชน” หมายถึง คนในวัยหนุ่มสาว คือ ผู้ที่มีอายุระหว่าง 15-25 ปี

 

ในปัจจุบัน เรามีศาลเยาวชนและครอบครัว ซึ่งถือว่าดีมาก เพราะคดีเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนถือว่า เป็นคดีที่มีความแตกต่างจากผู้ใหญ่ อีกทั้งศาลเด็กและเยาวชนยังมีความแตกต่างตรงที่มีผู้พิพากษาสมทบอีกด้วย สำหรับผู้พิพากษาและผู้พิพากษาสมทบ คือ ผู้แทนของประชาชนในการตัดสินเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดในรูปแบบของการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู สงเคราะห์ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เด็กและเยาวชนที่หลงผิดกลับตัวเป็นพลเมืองดีของสังคม

 

สำหรับบทความฉบับนี้ กระผมขอจบด้วยปรัชญาของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ซึ่งแต่งโดยท่านสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง พ.ศ.2546-2547 มีความว่า

 

มุ่งแก้ไขให้โอกาสผู้พลาดผิด                                 มุ่งลิขิตเปลี่ยนชีวิตผู้ผิดหลง

 

มุ่งคุ้มครองสิทธิเด็กเจตจำนง                                 มุ่งธำรงความยุติธรรมค้ำแผ่นดิน

#image_title

#image_title