การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามกฎหมายมีอะไรบ้าง
โดย ทนายสุทธิชัย ปัญญโรจน์(ทนายโทนี่)
https://www.facebook.com/profile.php?id=61570145816740
การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามกฎหมาย มีด้วยกันทั้งสิ้นหลายรูปแบบเช่น
ข้อที่ 1 การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน กล่าวคือการได้มาโดยการขอออกโฉนดที่ดินทั้งตําบล และได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยขอออกโฉนดที่ดินเฉพาะราย
อ้างอิง พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 58 และ มาตรา 59
ข้อที่ 2 การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยนิติกรรม เช่น โดยการทำนิติกรรม ซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน ,จำนอง, ขายฝาก และต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ
ข้อที่ 3 การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยผลของกฎหมาย เป็นที่ดินที่ไม่ได้ไปแย่งใครมา แต่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น ที่ดินงอกริมตลิ่ง ซึ่งอาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เพราะน้ำในแม่น้ำได้พัดพาเอากรวดหินดินทรายมาถมแล้วก็เกิดการพอกพูนขึ้นทุกวันจนกลายเป็นที่ดินขึ้นมา ซึ่งตามหลักกฎหมายได้กําหนดให้ที่ดินงอกริมตลิ่งพวกนี้ ซึ่งเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินผืนเดิมที่เกิดที่ดินงอกริมตลิ่ง พวกนี้สามารถนําไปขอออกโฉนดได้ แต่ต้องไม่ใช่ที่ดินซึ่งเกิดจากการถมที่ดินเพิ่มเติม
ข้อที่ 4 การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ตามหลักกฎหมายโดยการครอบครองปรปักษ์
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1382 บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์ ในทางปฏิบัติ แม้จะเข้าองค์ประกอบตามมาตรา 1382 กำหนดแล้ว ก็ไม่ใช่จะได้มาได้โดยง่ายเพราะบุคคลที่อ้างการครอบครองปรปักษ์ที่ดินนั้น จะต้องดำเนินการ จ้างทนายความ พร้อมแสดงหลักฐาน ”ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์”
ก่อนศาลจะพิจารณาหรือมีคำสั่ง จะต้องกระบวนการต่างๆ โดยศาลจะมีหมายส่งไปยังเจ้าของที่ดิน ที่มีชื่อในกรรมสิทธิ์(โฉนด)ดังกล่าว เพื่อให้มาแสดงตนในการ “คัดค้าน”และศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ที่ครองครองกล่าวอ้างการครอบครองปรปักษ์ดำเนินการเกี่ยวกับการรังวัดที่ดินพิพาท และนำหลักฐานอื่นๆมาแสดงเช่น พยานบุคคล,ภาพถ่ายที่ดินที่ได้ครอบครอง,แผนที่ที่ดิน ฯลฯ เพื่อประกอบการพิจารณาในศาลด้วย
ในกรณีไม่มีผู้คัดค้านหรือเจ้าของที่ดินมาแสดงตน ศาลอาจจะมีคำสั่งให้บุคคลผู้ครอบครองที่ดินนั้นได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ และผู้ครอบครองนั้นจะต้องนำคำสั่งศาลไปติดต่อกรมที่ดินหรือสำนักงานที่ดินจังหวัด เพื่อขอเปลี่ยนแปลงชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวได้
ข้อที่ 5 การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ตามหลักกฎหมายโดยทางมรดก
ที่ดินมรดกนั้นจะต้องเป็นที่ดินมีเอกสารสิทธิ์หรือมีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ ตัวอย่างเช่น โฉนดที่ดินและถ้าเป็นที่มรดก เช่น นส.3 , สค.1 ก็ถือว่าเป็นที่ดินมือเปล่าหรือมีเพียงสิทธิครอบครอง การได้ที่ดินโดยมรดกนี้จะต้องมีการจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินก่อนจึงจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้