ค้ำประกัน
โดย…ทนายสุทธิชัย ปัญญโรจน์(อาจารย์โทนี่)
www.drsuthichai.com
อยากเป็นหนี้ให้เป็นนายหน้า อยากเป็นขี้ข้าให้เป็นนายประกัน หรือเนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง เอากระดูกมาแขวนคอ

ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินสำนวนไทยโบราณ สองประโยคข้างต้นดังกล่าว และต้องยอมรับว่าสองประโยคข้างต้นมีความเป็นจริงอยู่มาก ในบทความฉบับนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องของการค้ำประกันกัน มีคนเคยถามกระผมว่า ค้ำประกันคืออะไร การค้ำประกันคือ สัญญาซึ่งบุคคลภายนอก เรียกว่า “ ผู้ค้ำประกัน ” ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้

ฉนั้นการค้ำประกันตนเองเพื่อชำระหนี้ของตนเองไม่สามารถทำได้ ต้องให้บุคคลภายนอกค้ำประกัน เพราะ ลูกหนี้ย่อมค้ำประกันตนเองอยู่แล้ว คำว่าบุคคลภายนอกในที่นี้รวมไปถึง นิติบุคคล ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัท สมาคม มูลนิธิ (ซึ่งต้องดูวัตถุประสงค์ของการจดทะเบียนด้วยว่า มีอำนาจในการทำสัญญาค้ำประกันหรือไม่) ส่วนบุคคลธรรมดาที่สามารถค้ำประกันได้จะเป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้ว ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย บุคคลวิกลจริต บุคคลเสมือนไร้ความสามารถ
ฉะนั้นเราจะเห็นนักกฏหมายส่วนใหญ่มักจะไม่ยอมค้ำประกันให้ใครง่ายๆ ถ้าหากจะให้ค้ำประกันใครขอค้ำประกันเป็นเงินสดยังจะดีกว่า เพราะหากท่านได้ทำสัญญาค้ำประกันให้กับใคร ท่านจะบอกเลิกไม่ได้ เพราะเจ้าหนี้เขาไว้ใจคนค้ำประกัน เขาถึงยอมให้เงินแก่ลูกหนี้ กฏหมายจึงไม่ยอมให้คนค้ำประกันบอกเลิกสัญญา หากกฏหมายยอมให้บอกเลิกสัญญาได้ความเสียหายก็จะตกแก่เจ้าหนี้นั้นเอง

ฏีกา 980/2513 หากเจ้าหนี้ฟ้องผู้ค้ำประกัน โดยไม่เรียกร้องจากลูกหนี้ก่อน ถือว่าเจ้าหนี้ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ไม่มีอำนาจฟ้องจากจำเลยผู้ค้ำประกันได้

ดังนั้น ผู้ค้ำประกันจึงถือว่าเป็นลูกหนี้ลำดับสองหรือชั้นสอง ถ้าหากเจ้าหนี้เรียกผู้ค้ำประกันชำระหนี้โดยไม่ได้ไปบังคับเอาหนี้กับลูกหนี้ลำดับหนึ่งหรือชั้นหนึ่งก่อน ผู้ค้ำประกันสามารถที่จะเกี่ยงให้เจ้าหนี้ไปบังคับกับลูกหนี้ก่อน แต่เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ หรือชำระหนี้ไม่ครบ ผู้ค้ำประกันจึงจะต้องชำระหนี้แทน

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราต้องดูรายละเอียดของสัญญาค้ำประกันด้วย ถ้าหากในสัญญาค้ำประกันมีข้อความว่า ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดชดใช้เงินแทนลูกหนี้ในทันทีที่ได้รับการทวงถามโดยมิพักต้องเรียกร้องเอาจากลูกหนี้ก่อน ข้อสัญญาดังกล่าวมีผลทำให้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน คนใดคนหนึ่งชำระจนสิ้นเชิงสัญญาดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงมีผลผูกพันคู่สัญญา ตามฏีกา3553/2533

สำหรับการระงับของสัญญาค้ำประกันสามารถระงับได้โดย เมื่อหนี้ของลูกหนี้ระงับ เมื่อผู้ค้ำประกันบอกเลิกการค้ำประกัน ทั้งนี้ต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าหนี้ก่อน เมื่อระยะเวลาในการค้ำประกันสิ้นสุดลง และเมื่อเจ้าหนี้ไม่ยอมรับชำระหนี้จากผู้ค้ำประกัน

ถามว่าแล้วอย่างนี้ การเป็นผู้ค้ำประกันมีสิทธิจะหลุดหรือไม่เวลาถูกฟ้องร้อง บางคดีหลุดครับ แต่มีน้อยมาก หลุดเพราะ ประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 699 “ การค้ำประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราวไม่มีจำกัดเวลาเป็นคุณแก่เจ้าหนี้นั้น ท่านว่าผู้ค้ำประกันอาจเลิกเสียเพื่อคราวในอนาคตได้ โดยบอกกล่าวความประสงค์ไปยังเจ้าหนี้ ในกรณีเช่นนี้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดในกิจการที่ลูกหนี้กระทำลงภายหลังคำบอกกล่าวนั้นได้ไปถึงเจ้าหนี้ ”
กิจการต่อเนื่องหลายคราวที่ผู้ค้ำประกันสามารถบอกเลิกได้ เช่น สัญญาการค้ำประกันการทำงานของลูกจ้าง ที่ไม่มีกำหนดเวลา , สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี(OD) ที่กำหนดให้ลูกค้าเบิกเงินเป็นคราวๆ (ฏีกา 500/2507,1945/2537)
ดังนั้นหากท่านถูกฟ้องดำเนินคดีในฐานค้ำประกัน ท่านลองไปศึกษา มาตรา 699 ดูครับ อาจเป็นทางออกของท่านได้อีกทางหนึ่ง “ สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง ” ผู้ที่เป็นเจ้าหนี้ก็อาจพลาดและพลั้งได้เช่นกันครับ

#image_title