สัญญากู้ยืมเงิน ที่ไม่ได้กำหนดเวลาชำระคืน กรณีผู้กู้ถึงแก่ความตาย อายุความของสัญญากู้ยืมเงินหรือผู้ให้กู้จะต้องฟ้องทายาทของผู้กู้ ให้ชำระหนี้เงินกู้ภายใน 1 ปี
โดย ทนายสุทธิชัย ปัญญโรจน์ (ทนายโทนี่)
https://www.facebook.com/profile.php?id=61570145816740
เจ้าหนี้หลายคนละเลยหรือประมาท ในเรื่องของการขาดอายุความ ความจริงการกู้ยืมเงินหรือสัญญาเงินกู้โดยทั่วไปจะมี อายุความ 10 ปี ในการฟ้องร้องเรียกเงินคืน แต่กรณีที่ลูกหนี้ตายไป เจ้าหนี้ต้องรีบฟ้องร้องกับทายาทของผู้ตายหรือทายาทลูกหนี้ ภายในกำหนดเวลา 1 ปี นับตั้งแต่เจ้าหนี้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของลูกหนี้ มิฉะนั้นถือว่าขาดอายุความ
อ้างอิง คำพิพากษาฎีกาที่8811/2556
สัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับ ส. ไม่ได้กำหนดเวลาชำระต้นเงินคืนไว้ โจทก์ย่อมเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่ง และถือเป็นเวลาที่ผู้ให้กู้อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ อายุความจึงเริ่มนับแต่วันถัดจากวันทำสัญญากู้เงิน และเมื่อ ส. ถึงแก่ความตายก่อนที่โจทก์ทวงถามก็ไม่อาจใช้อายุความทั่วไปตามที่โจทก์ฎีกาเพราะสิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดกซึ่งยังไม่ถึงกำหนดเวลาบังคับเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายก่อนถึงกำหนดนั้น เจ้าหนี้ก็ต้องฟ้องคดีเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้น ภายในหนึ่งปีนับแต่ได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก เมื่อโจทก์เบิกความรับว่า ส. ถึงแก่ความตายในวันที่ 1 ธันวาคม 2548 และโจทก์อยู่ช่วยงานศพด้วย แสดงว่าโจทก์รู้ถึงการตายของ ส. ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2548 โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยในฐานะทายาทของ ส. ให้ชำระหนี้เงินกู้ยืมดังกล่าว เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 พ้นกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการตายของ ส. ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม
หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 วรรคหนึ่ง
ถ้าเวลาอันจะพึงชำระหนี้นั้นมิได้กำหนดลงไว้ หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 วรรคสาม
ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 193/27 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก