ความผิดฐาน หมิ่นประมาท
โดย…ทนายสุทธิชัย ปัญญโรจน์(อาจารย์โทนี่)
www.drsuthichai.com
หากพูดถึง เรื่องความผิดฐาน หมิ่นประมาท แล้ว อาชีพที่ดูเหมือนจะต้องมีส่วนเกี่ยวพันกับกฏหมายหมิ่นประมาท ส่วนมากจะเป็นผู้ที่ใช้ ปาก หรือ ปากกา หรือ อาชีพที่ใช้คำพูดและการเขียน เช่น นักการมือง , นักหนังสือพิมพ์ , สื่อมวลชน , บุคคลที่มีชื่อเสียง ฯลฯ
สำหรับการดำเนินคดี ผู้เสียหายสามารถดำเนินคดีได้ 2 วิธี คือ
1.ผู้เสียหายสามารถ แจ้งความ “ร้องทุกข์” ต่อเจ้าหน้าที่พนักงานสอบสวน แล้ว เจ้าหน้าที่พนักงานสอบสวน ก็จะส่งเรื่องไปที่พนักงานอัยการ แล้วพนักงานอัยการ ก็จะเป็น “ โจทก์” ฟ้องคดีต่อศาลให้แก่ท่าน ซึ่งการดำเนินคดีวิธีนี้ อาจมีความล่าช้า เนื่องจากพนักงานสอบสวน และ พนักงานอัยการ อาจมีงานมาก อีกทั้ง บางคดี เจ้าหน้าที่พนักงานสอบสวนและอัยการมีความเห็นไม่ตรงกันหรือแตกต่างกัน เช่น หลักฐานยังมีไม่มากพอ , การพูดหรือการเขียนยังขาดเจตนา , การตีความต่างกันว่าผู้ต้องหาผิดหรือไม่ผิด ฯลฯ ซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินการฟ้องร้องคดีให้แก่ท่านได้ หรือ ท่านต้องการให้ฟ้องร้องหลายคดี หลายมาตรา แต่พนักงานอัยการ พิจารณาฟ้องเฉพาะบางข้อหา บางคดี หรือบางกระทง ไม่สามารถฟ้องคดีต่อศาล ตามที่ท่านต้องการให้ฟ้องได้
2.ผู้เสียหายสามารถว่าจ้างทนายความฟ้องคดีต่อศาลเองได้ สำหรับผู้ที่มีเงิน มีฐานะ มีชื่อเสียง ส่วนใหญ่จะเลือกวิธีนี้ เพราะผู้เสียหาย สามารถให้ทนายความยื่นฟ้องต่อศาลได้ทุกข้อหา ทุกมาตรา ทุกกระทง ทนายความอาจยื่นฟ้องต่อศาลพร้อมๆกัน หลายคดี หลายท้องที่ หลายศาล ที่เกิดความผิดฐาน หมิ่นประมาท
โดยปกติคดีหมิ่นประมาท เป็นคดีที่ไม่ใหญ่โตมาก ไม่เหมือนคดีอาญาประเภท ยาเสพติดให้โทษ ฆ่ากันตาย แต่เป็นคดีที่ผู้เสียหายต้องการที่จะ “รักษาชื่อเสียง เกียรติยศ หน้าตา” ของตนเอง โดยเฉพาะ นักการเมือง ดารา สื่อมวลชน
ฉะนั้น ก่อนจะที่พูดหรือเขียนอะไรลงไป พึงมีสติ ว่าคำพูดนั้น จะก่อความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือไม่ และมีอีกหลายกรณี ที่ผู้พูดหรือผู้เขียน มีสติ จงใจ พูดหรือเขียน เนื่องจากความโกรธเคืองกัน การอาฆาตพยาบาท ซึ่งในการพุทธศาสนา สอนไว้ว่าควรให้ อภัยด้วยการแผ่เมตตา เพื่อลดโทสะ ไม่ให้พยาบาทต่อกัน
ซึ่งกฏหมายที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือใกล้เคียงกับการหมิ่นประมาทมีดังนี้
1.หมิ่นประมาททั่วไป(ม.326)
2.ดูหมิ่น(ม.393)
3.หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ(ม.112,ม.133,ม.134)
4.ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน(ม.136)
5.ดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษา(ม.198)
6.ละเมิคอำนาจศาล(ป.วิแพ่ง ม.30-33)
7.หมิ่นประมาทผู้ตาย(ม.327)
8.หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา(ม.328)
9.ข้อยกเว้นไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท(ม.329,ม.330)
10.ข้อยกเว้นไม่เป็นความผิดในการดำเนินคดีในศาล(ม.331)
11.เอกสิทธิ์เด็ดขาดและไม่เด็ดขาด(รัฐธรรมนูญ มาตรา 130,มาตรา 135)
ดังนั้น บุคคลที่ใช้ ปากหรือปากกา บุคคลที่ใช้ คำพูดหรือข้อเขียน ในการประกอบอาชีพ ควรที่จะศึกษากฏหมายหมิ่นประมาท โดยเฉพาะ อาชีพนักการเมืองซึ่งจำเป็นจะต้องใช้ปากหรือคำพูด เพื่อใช้ในการปราศัย หาเสียงเลือกตั้ง หากเราลองสังเกตดู จากเวทีหาเสียงหรือเวทีการพูดทางการเมือง บางคนด่าคนอื่นจนสาดเสียเทเสีย ผู้ฟังสะใจ แต่ไม่เข้าข่ายความผิดหมิ่นประมาท แต่บางคน พูดธรรมดาๆ แต่กลับโดนข้อหาหมิ่นประมาท
เช่นกัน นักหนังสือพิมพ์ บางคน เขียนข้อความด่าผู้อื่น แต่ไม่เข้าข่ายความผิดหมิ่นประมาท แต่นักหนังสือพิมพ์อีกคน ให้ข้อมูลพื้นๆ ทั่วๆไป แต่เข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาท
ฉะนั้น นักการเมือง จึงต้องมีศิลปะในการพูด เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการเข้าคุก นักหนังสือพิมพ์ก็เช่นกัน ควรมีศิลปะในการเขียน เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการเข้าตะราง และที่สำคัญควรที่จะศึกษา กฏหมาย ความผิดฐาน หมิ่นประมาท เอาไว้ด้วย

#image_title