เรามีโอกาสรอดคุกรอดตะรางได้อย่างไร

โดย…ทนาย สุทธิชัย ปัญญโรจน์(ดร.โทนี่)

www.drsuthichai.com

การกระทำความผิด โดยเฉพาะการกระทำความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 มี 5 สถาน คือ 1.ประหารชีวิต 2.จำคุก 3.กักขัง 4.ปรับ และ 5.ริบทรัพย์สิน หมายเหตุ โทษประหารชีวิตและโทษจำคุกตลอดชีวิตมิให้นำมาใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี และ ในกรณีผู้ซึ่งกระทำความผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีได้กระทำความผิดที่มีระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ให้ถือว่าระวางโทษ ดังกล่าวได้เปลี่ยนเป็นระวางโทษจำคุกห้าสิบปี

แต่ถ้าท่านหรือญาติของท่านเป็นคนหนึ่งที่ถูกคดีฟ้องร้องถึงขั้นจำคุก ท่านสามารถรอดคุกรอดตะรางได้ โดยมีปัจจัยที่ทำให้ท่านรอดคุกรอดตะรางดังนี้

– หากว่าท่านเป็นจำเลย ถ้าหากพยานโจทก์เบิกความไม่ดีหรือผิดพลาด ท่านอาจรอดคุกรอดตะรางได้ กระผม

ขออธิบายเพิ่มเติม ในการทำคดีอาญา จะมี 2 ฝ่ายเสมอ คือมีโจทก์เป็นผู้ฟ้อง และมีจำเลยคือผู้ถูกฟ้อง และการสืบพยานก็มักจะมีพยาน 2 ฝ่าย คือ พยานโจทก์และพยานจำเลย โดยที่พยานโจทก์จะเบิกความเพื่อกล่าวหาว่าจำเลยมีความผิดและพยานจำเลยก็มักจะเบิกความว่าจำเลยไม่ผิด ดังนั้น พยานโจทก์จึงมีความสำคัญที่จะทำให้จำเลยติดคุกได้ หากว่าพยานโจทก์เบิกความไม่ดีหรือผิดพลาด จำเลยก็มีสิทธิหลุดได้ อีกทั้งแนวทางการต่อสู้ของทนายความจำเลยก็มีความสำคัญ กล่าวคือหากทนายความจำเลยสามารถถามค้านพยานโจทก์ เพื่อให้พยานโจทก์ตอบให้เกิดความสงสัยได้ยิ่งมากยิ่งดีจะทำให้ศาลมีโอกาสยกฟ้องได้สูงขึ้น

– เด็กมีสิทธิรอดคุกรอดตะรางหรือไม่ มีครับ ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 73 เด็กอายุยังไม่เกินสิบปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษพนักงานสอบสวนส่งตัวเด็กตามวรรคหนึ่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการ คุ้มครองเด็ก เพื่อดำเนินการคุ้มครองสวัสดิภาพตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

หมายเหตุ : มาตรา 73 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพรบ.แก้ไขเพิ่มเติมปอ. (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2551

มาตรา 74 เด็กอายุกว่าสิบปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลมีอำนาจที่จะดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) ว่ากล่าวตักเตือนเด็กนั้นแล้วปล่อยตัวไป และถ้าศาลเห็นสมควรจะเรียกบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่มาตักเตือนด้วยก็ได้

(2) ถ้าศาลเห็นว่า บิดา มารดา หรือผู้ปกครองสามารถดูแลเด็กนั้นได้ ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้แก่บิดา มารดา หรือผู้ปกครองไป โดยวางข้อกำหนดให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองระวังเด็กนั้นไม่ให้ก่อเหตุร้ายตลอดเวลาที่ศาลกำหนดซึ่งต้อง ไม่เกินสามปี และกำหนดจำนวนเงินตามที่เห็นสมควรซึ่งบิดา มารดา หรือผู้ปกครองจะต้องชำระต่อศาลไม่เกินครั้งละหนึ่งหมื่นบาท ในเมื่อเด็กนั้นก่อเหตุร้ายขึ้น

– ถ้าเด็กนั้นอาศัยอยู่กับบุคคลอื่นนอกจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง และศาลเห็นว่าไม่สมควรจะเรียกบิดา มารดา หรือผู้ปกครองมาวางข้อกำหนดดังกล่าวข้างต้น ศาลจะเรียกตัวบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่มาสอบถามว่า จะยอมรับข้อกำหนดทำนองที่บัญญัติไว้สำหรับบิดา มารดา หรือผู้ปกครองดังกล่าวมาข้างต้นหรือไม่ก็ได้ ถ้าบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ยอมรับข้อกำหนดเช่นว่านั้น ก็ให้ศาลมีคำสั่งมอบตัวเด็กให้แก่บุคคลนั้น ไปโดยวางข้อกำหนดดังกล่าว

(3) ในกรณีที่ศาลมอบตัวเด็กให้แก่บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ตาม (2) ศาลจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติเด็กนั้นเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 56 ด้วยก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลแต่งตั้งพนักงานคุมประพฤติหรือพนักงานอื่นใดเพื่อคุมความประพฤติเด็กนั้น

(4) ถ้าเด็กนั้นไม่มีบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง หรือมีแต่ศาลเห็นว่าไม่สามารถดูแลเด็กนั้นได้ หรือถ้าเด็กอาศัยอยู่กับบุคคลอื่นนอกจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง และบุคคลนั้นไม่ยอมรับข้อกำหนดดังกล่าวใน (2) ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้อยู่กับบุคคลหรือองค์การที่ศาลเห็นสมควร เพื่อดูแลอบรม และสั่งสอนตามระยะเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้ในเมื่อบุคคลหรือองค์การนั้นยินยอม ในกรณีเช่นว่านี้ให้บุคคลหรือองค์การนั้นมีอำนาจเช่นผู้ปกครองเฉพาะเพื่อ ดูแล อบรม และสั่งสอน รวมตลอดถึงการกำหนดที่อยู่และการจัดให้เด็กมีงานทำตามสมควร หรือให้ดำเนินการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นก็ได้ หรือ

(5) ส่งตัวเด็กนั้นไปยังโรงเรียน หรือสถานฝึกและอบรม หรือสถานที่ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็ก ตลอดระยะเวลาที่ศาลกำหนด แต่อย่าให้เกินกว่าที่เด็กนั้นจะมีอายุครบสิบแปดปี

– คำสั่งของศาลดังกล่าวใน (2) (3) (4) และ (5) นั้น ถ้าใน ขณะใดภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดไว้ ความปรากฏแก่ศาลโดย ศาลรู้เอง หรือตามคำเสนอของผู้มีส่วนได้เสีย พนักงานอัยการ หรือ บุคคลหรือองค์การที่ศาลมอบตัวเด็กเพื่อดูแล อบรมและสั่งสอนหรือ เจ้าพนักงานว่า พฤติการณ์เกี่ยวกับคำสั่งนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปก็ให้ ศาลมีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งนั้น หรือมีคำสั่งใหม่ตามอำนาจ ใน มาตรานี้

หมายเหตุ : มาตรา 74 วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพรบ.แก้ไขเพิ่มเติมปอ. (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2551

สำหรับ เรามีโอกาสรอดคุกรอดตะรางได้อย่างไร กระผมจะทยอยเขียนเป็นตอนๆ เพราะยังมีอีกหลายกรณีที่เราสามารถรอดคุกรอดตะรางซึ่งสามารถทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เช่น คนบ้ามีสิทธิรอดคุกรอดตะรางได้ , ครอบครัวสามีภรรยาพี่น้องลูกหลานพ่อแม่ทำผิดอาญาต่อกันสามารถรอดคุกรอดตาราง(ในบางกรณีครับ) ฯลฯ

 

#image_title