กฏหมายธุรกิจ
โดย…ทนาย สุทธิชัย ปัญญโรจน์(อาจารย์โทนี่)
ถ้าพูดถึงกฎหมายธุรกิจแล้ว มักจะมีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยเฉพาะ บรรพ 3 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยเอกเทศสัญญา ซึ่งมีส่วนประกอบที่สำคัญถึง 23 ลักษณะ คือ ลักษณะ 1 ซื้อขาย ลักษณะ 2 แลกเปลี่ยน ลักษณะ 3 ให้ ลักษณะ 4 เช่าทรัพย์ ลักษณะ 5 เช่าซื้อ ลักษณะ 6 จ้างแรงงาน ลักษณะ 7 จ้างทำของ ลักษณะ 8 รับขน ลักษณะ 9 ยืม ลักษณะ 10 ฝากทรัพย์ ลักษณะ 11 ค้ำประกัน ลักษณะ 12 จำนอง ลักษณะ 13 จำนำ ลักษณะ 14 เก็บของในคลังสินค้า ลักษณะ 15 ตัวแทน ลักษณะ 16 นายหน้า ลักษณะ 17 ประนีประนอม ลักษณะ 18 การพนันและขันต่อ ลักษณะ 19 บัญชีเดินสะพัด ลักษณะ 20 ประกันภัย ลักษณะ 21 ตั๋วเงิน ลักษณะ 22 หุ้นส่วนและบริษัท ลักษณะ 23 สมาคม
ดังนั้นเราจึงเห็นได้ว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายธุรกิจหรือเอกเทศสัญญาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการดำรงชีวิตและการประกอบธุรกิจ และกระผมเชื่อว่าพวกเราทุกคนคงมีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับกฎหมายเอกเทศสัญญาไม่มากก็น้อย เช่น เรื่องของการค้ำประกัน จำนองและจำนำ การค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 ระบุว่า อันว่าค้ำประกันนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
ฉะนั้นเรื่องของการค้ำประกันเป็นเรื่องที่ต้องควรศึกษาและทำความเข้าใจเพราะบางคนต้องใช้หนี้ให้กับเจ้าหนี้โดยที่ตนเองไม่ได้เป็นคนก่อหนี้ แต่ต้องใช้หนี้แทนผู้อื่น ซึ่งการค้ำประกันมี 2 ชนิด คือ 1.การประกันด้วยบุคคล และ 2.การประกันด้วยทรัพย์สิน
1.การประกันด้วยบุคคล คือ การที่บุคคลหนึ่งเข้าผูกพันตนต่อเจ้าหนี้ว่า ถ้าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้แล้ว เขาจะเป็นผู้ชำระแทนให้ ฉะนั้น สิ่งที่เป็นประกันให้แก่เจ้าหนี้ก็คือ ตัวบุคคลผู้นั้นเอง(ธนวัฒน์ เนติโพธิ์ 2539: 386)
2.การประกันด้วยทรัพย์สิน คือ การที่เจ้าหนี้ได้รับทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใดไว้เป็นการประกันการชำระหนี้ของลูกหนี้ ซึ่งทรัพย์ที่เป็นประกันนี้อาจเป็นทรัพย์ของลูกหนี้เอง หรือเป็นทรัพย์ของบุคคลภายนอกก็ได้ ซึ่งการประกันด้วยทรัพย์มี 2 ประการ คือ 1.การจำนอง 2.การจำนำ (ธนวัฒน์ เนติโพธิ์ 2539: 386)
ส่วนการจำนอง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 702 ระบุว่า คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่ง เรียกว่า ผู้จำนอง เอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับจำนอง เป็นประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง
สำหรับทรัพย์สินที่กฎหมายกำหนดให้จำนองกันได้คือ อสังหาริมทรัพย์(ที่ดินและบ้านเรือน) , เรือกำปั่น ,แพ , สัตว์พาหนะ(ช้าง ม้า วัว ควาย )
ส่วนการจำนำ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามมาตรา 747 อันว่าจำนำนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนำ ส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนำ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้
สำหรับบทความข้างต้นถามว่าทำไมต้องอ้าง ประมวลกฎหมาย มาตราต่างๆ เพราะ กฎหมายเป็นข้อบังคับ ดังนั้นผู้ศึกษากฎหมายจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักกฎหมายมาตราต่างๆ มาให้เข้าใจ อีกทั้งคำบางคำหรือถ้อยคำบางคำ เราอ่านแล้วฟังแล้ว อาจไม่เข้าใจซึ่งต้องอาศัยการตีความตามกฎหมาย
ดังนั้นการศึกษากฏหมายเอกเทศสัญญาจึงมีความสำคัญมากในการดำรงชีพและการประกอบธุรกิจ เพราะจะทำให้เราไม่เสียเปรียบผู้อื่น และที่สำคัญคือเมื่อเรารู้กฎหมายแล้วเราก็ไม่ควรนำความรู้กฎหมายไปเอาเปรียบผู้อื่นด้วย