by drsuthichai | Dec 15, 2024 | การศึกษา, ทั่วไป อื่นๆ
จ้างทนายความ ฟ้องคดีหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหายได้จำนวนเท่าไหร่ ? และศาลใช้หลักเกณฑ์อะไรในการพิจารณา?
ความผิดฐานหมิ่นประมาท เป็นความผิดอันยอมความได้ไหม?
โดย ทนายสุทธิชัย ปัญญโรจน์(ทนายโทนี่)
https://www.facebook.com/profile.php?id=61570145816740
คำถามประเด็นที่ 1 จ้างทนายความ ฟ้องคดีหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหายได้จำนวนเท่าไหร่ ?
ตอบ หากถามผมว่าฟ้องคดีหมิ่นประมาทจะได้ค่าเสียหายจำนวนเท่าไหร่ ? ผมบอกไม่ได้ว่าผู้ฟ้องคดีหมิ่นประมาทหากว่าชนะคดีแล้วจะได้ค่าเสียหายจำนวนเท่าไร เพราะว่ามันมีหลักเกณฑ์และมีปัจจัยหลายอย่างที่ศาลจะต้องนำมาพิจารณา แต่พูดกันตามตรงนะครับ ว่าคดีหมิ่นประมาทในประเทศไทย ได้รับค่าเสียหายน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับ ประเทศสหรัฐอเมริกา ตัวอย่างเช่น
ประเทศสหรัฐอเมริกา ศาลสั่ง’ทรัมป์’จ่ายค่าเสียหายคดีหมิ่นประมาทคู่กรณีกว่า 83 ล้านดอลล์ หรือเกือบ 3,000 ล้านบาทให้กับนางอี. จีน แคร์โรลล์ ซึ่งยื่นฟ้องทรัมป์ที่ทำลายชื่อเสียงของเธอในฐานะที่เป็นนักข่าวที่น่าเชื่อถือ
สำหรับประเทศไทยของเรา หากบอกกันตรงตรง การจ่ายค่าเสียหายคดีหมิ่นประมาทให้แก่คู่กรณีจะได้ค่อนข้างน้อยส่วนใหญ่ก็แค่หลักหมื่น บางกรณีอาจจะมีบ้าง เป็นหลักแสน แต่เป็นหลักล้านจะมีน้อยมากๆฯ
ดังนั้น เราจะหวังว่าจะฟ้องคดีหมิ่นประมาทให้ได้เงินเป็นล้านเป็น 10 ล้านบาทหรือ 100 ล้านบาท มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ซึ่งส่วนใหญ่คดีประเภทนี้มักจะจบลงด้วยการเจรจาไกล่เกลี่ย และให้ฝ่ายที่เป็นจำเลยขอโทษและโพสต์ขอโทษตามสื่อต่างๆ แล้วก็ชดใช้เงินส่วนหนึ่ง ซึ่งคดีหมิ่นประมาทจำนวนมากไม่ได้รับค่าเสียหายเต็มตามจำนวนเงินที่ฟ้องเรียกค่าเสียหาย
เช่น ศาลตัดสินแล้ว คดีหมิ่นประมาททราย เจริญปุระ คู่กรณีต้องจ่ายค่าเสียหาย โพสต์ขอโทษอีก 200 วัน(อ้างอิง มติชนออนไลน์ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565)
คำถามประเด็นที่ 2 ศาลใช้หลักเกณฑ์อะไรในการพิจารณา?
ตอบ ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า การกำหนดค่าเสียหายในคดีหมิ่นประมาท นั้น ไม่ได้มีหลักเกณฑ์แน่นอนตายตัว ว่าจะต้องจ่ายกันเท่าไหร่ เพราะเป็นดุลยพินิจของศาล ที่จะต้องนั่งพิจารณาคดีนั้นๆ บางคดีอาจได้มากหรือได้น้อย ก็คงต้องดูพฤติการณ์ต่างๆในคดี และภาพรวม ซึ่ง หลักเกณฑ์ที่ศาลใช้ในการพิจารณามีดังต่อไปนี้
1.ข้อที่ศาลจะต้องนำเอาไปคิดและพิจารณา ข้อความหรือเนื้อหาหรือคำพูดของการหมิ่นประมาทนั้น เป็นข้อความหรือเนื้อหาหรือคำพูดในการหมิ่นประมาทนั้นมันรุนแรงหรือมันร้ายแรงหรือหนักเบามากน้อยเพียงใด หากเป็นการทำให้เขาได้รับความเสื่อมเสียชื่อเสียงอย่างร้ายแรงหรือรุนแรง อย่างนี้ ค่าเสียหายที่ได้รับก็จะสูงหรือเป็นจำนวนมาก แต่ถ้าหากว่าเป็นการหมิ่นประมาทแบบเรื่องเล็กๆน้อยๆ ไม่รุนแรงหรือร้ายแรง อันนี้ก็จะได้รับค่าเสียหาย ที่ต่ำหรือจำนวนน้อย
2.ข้อที่ศาลจะต้องนำเอาไปคิดและพิจารณา ก็คือว่ามีใครบ้าง ที่รับรู้ข้อความหรือเนื้อหาหรือคำพูด หากมีบุคคลต่างๆรับรู้เป็นจำนวนมาก เช่น การโพสต์ในช่อง YouTube มีคนดูเป็นหลักล้าน , การโพสต์ใน Facebook มีคนกดไลค์กดแชร์เป็นแสนเป็นล้าน หรือโพสต์ลงในสื่อออนไลน์อื่นๆ รวมทั้งสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ หากมีคนดูเป็นจำนวนมาก กล่าวคือมีคนรับรู้ในวงกว้าง และผู้เสียหายก็ได้รับผลกระทบในวงกว้าง อันนี้จะได้รับค่าเสียหายที่สูงหรือมากกว่า การโพสต์ใน Youtube มีคนดูแค่ 15 คน หรือโพสต์ใน Facebook มีคนกดไลค์อยู่ 1 คน หรือ มีการหมิ่นประมาทในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นกล่าวคือคนอ่านหรือดูเฉพาะในจังหวัดนั้นๆ ไม่ใช่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ที่คนอ่านกันทั่วประเทศ แบบนี้คนรับรู้ในวงแคบและผู้เสียหายก็ได้รับผลกระทบในวงแคบ ก็จะได้รับค่าเสียหายที่ต่ำหรือน้อยลงไป
3.ข้อที่ศาลจะต้องนำเอาไปคิดและพิจารณา ก็คือเรื่องของระยะเวลาที่เกิดเหตุการณ์ของการหมิ่นประมาท รวมไปถึงจำนวนกี่ครั้งในการหมิ่นประมาท เช่น ถ้าข้อความหรือเนื้อหาหรือคำพูดในการหมิ่นประมาท เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีเขียนข้อความหรือเนื้อหาหรือคำพูด หมิ่นประมาทอยู่หลายครั้งหรือซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นจำนวนหลายหลายครั้ง เช่น มีการลงโพสต์ลงในกลุ่มไลน์ มีการเผยแพร่ในเว็บไซต์ มีการเผยแพร่ใน YouTube หรือสื่อออนไลน์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และเหตุการณ์เหล่านี้ก็เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน เป็นจำนวนหลายครั้งหรือเป็นจำนวนมาก มันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ศาลจะเอามาคิดและพิจารณา คิดค่าเสียหาย ให้ได้รับค่าเสียหายที่สูงหรือมากขึ้น แต่ถ้าสมมุติโพสต์ลงใน Facebook หรือ Line หรือ Youtube เพียงแค่ 1 ครั้ง แล้วรีบลบหรืออีกวันสองวันรีบลบ ข้อความหรือเนื้อหาหรือคำพูด ออกจากระบบทันที หรือเป็นการแค่พูดหมิ่นประมาท แค่ครั้งเดียว พูดกับคนคนเดียวหรือสองคน อันนี้ค่าเสียหายที่จะได้รับมันก็จะต่ำหรือน้อยลงไป
4.ข้อที่ศาลจะต้องนำเอาไปคิดและพิจารณา ในเรื่องของการรับค่าเสียหายก็ คือฐานะทางสังคมของทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นโจทก์หรือจำเลย เช่นฐานะภาพทางด้านสังคม ด้านการศึกษา ของทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นของผู้ถูกกระทำ หากผู้ที่ถูกกระทำหรือโจทก์ เขาเป็นดารา เป็นนักการเมือง เป็นบุคคลหรือผู้มีชื่อเสียง เป็นนักร้อง กล่าวคือเป็นบุคคลที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปอย่างกว้างขวาง แน่นอนว่าเขาก็จะได้รับความเสียในวงกว้างไปด้วย เขาก็จะได้รับค่าเสียหายที่สูงหรือจำนวนมาก แต่ถ้าโจทก์หรือผู้ถูกกระทำหรือผู้เสียหาร เป็นคนโดยทั่วไปไม่มีชื่อเสียง ไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ก็จะได้รับค่าเสียหายที่ต่ำหรือน้อยกว่า อีกทั้งศาลยังพิจารณา ฐานะ อาชีพ รายได้ ของผู้กระทำกับผู้ถูกกระทำ ประกอบการพิจารณาอีกด้วย
ตัวอย่างเช่น ครูไพบูลย์ ชนะคดีหมิ่นประมาท ศาลตัดสินจำคุก นายห้างประจักษ์ชัย 4 ปี 16 เดือน ไม่รอลงอาญา จ่ายค่าเสียหาย 1 ล้านบาท ทั้งนี้ ภายหลังฟังคำพิพากษา จำเลยได้ ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์(อ้างอิง ข่าวออนไลน์7HD เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2566 ) ทั้งนี้ ครูไพบูลย์ เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 20 ล้านบาท แต่ศาลตัดสินสั่งจ่ายค่าเสียหายจำนวน 1 ล้านบาท
5.ข้อที่ศาลจะต้องนำเอาไปคิดและพิจารณา คือผลที่เกิดขึ้นจากการหมิ่นประมาท โดยเฉพาะ ผลกระทบกับคนที่ถูกกระทำมีมากน้อยเพียงใด เช่น การได้รับความอับอายขายหน้า ความเจ็บใจ เพราะ บางคนถูกสังคมตราหน้า บางคนถึงขั้นต้องลาออกจากงานไปเลย บางคนเสียสุขภาพจิต บางคนเป็นโรคซึมเศร้า บางคนอาจถูกดำเนินการทางวินัย บางคนถูกถูกตั้งกรรมการสอบสวน พวกนี้เป็นองค์ประกอบที่ศาลจะนำเอามาเป็นหลักเกณฑ์ในการคิดและวินิจฉัยค่าเสียหายว่าจะได้รับมากน้อยเพียงใด
6.ข้อที่ศาลจะต้องนำเอาไปคิดและพิจารณา คือการสำนึกผิดของผู้กระทำความผิด และผู้กระทำความผิดหรือจำเลยในคดีหมิ่นประมาท ได้มีการบรรเทาผลร้ายอะไรบ้างให้แก่โจทก์ เช่น สมมุติว่า นาย ก.ได้กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต่อมา นาย ก.ได้สำนึกผิด แล้วได้ลบโพสต์ ข้อความหรือเนื้อหาหรือคำพูด ออกจากระบบ ไม่ว่าจะเป็น Youtube , Facebook , Line ฯลฯ ออกไปแล้ว อีกทั้งยังได้โพสต์ ข้อความหรือเนื้อหาหรือคำพูด ที่เป็นการขอโทษ และได้มีการพูดคุยกันทำการขอโทษกับผู้เสียหายโดยตรง มีการกราบเท้าเพื่อขอโทษ มีการเจรจาขอวางเงินเพื่อชดใช้ ค่าเสียหาย จำนวนหนึ่ง ลักษณะอย่างนี้เขาถือได้ว่า จำเลย ได้พยายามบรรเทาผลร้าย แล้วได้สำนึกผิด ในการกระทำของตนเอง ศาลก็จะพิจารณาให้ชดใช้ค่าเสียหายที่ต่ำลงหรือน้อยลง
สรุป สำหรับการฟ้องคดีหมิ่นประมาท ซึ่งมีความผิดทั้งทางอาญาและละเมิดในทางแพ่ง
ในทางอาญานั้นกฎหมายกำหนดระวางโทษจำคุกและปรับสำหรับความผิดฐานหมิ่นประมาท ส่วนในทางแพ่งนั้นการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้นถือเป็นการละเมิด มาตราที่มีความเกี่ยวข้อง คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา
๔๒๐ , มาตรา ๔๒๓ และ มาตรา ๔๔๗
คำถามประเด็นที่ 3 ความผิดฐานหมิ่นประมาท เป็นความผิดอันยอมความได้ไหม?
ตอบ คดีหมิ่นประมาทหรือความผิดฐานหมิ่นประมาท เป็นความผิดอันยอมความได้ ประมวลกฎหมายอาญา หมวด ๓
ความผิดฐานหมิ่นประมาท มาตรา ๓๓๓ บัญญัติไว้ว่า ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายในความผิดฐานหมิ่นประมาทตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย
สำหรับข้อควรระวัง หากไม่แน่ใจ ก็ไม่ควรรีบร้อนไปแจ้งความ ควรปรึกษาทนายความหรือบุคคลที่มีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นประมาทก่อนแจ้งความ เพราะหากแจ้งความไปแล้ว อาจโดนฟ้องกลับได้ โดยจำเลยสามารถฟ้องกลับได้ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 172 การให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ
#image_title
by drsuthichai | Dec 14, 2024 | การศึกษา, ทั่วไป อื่นๆ
เมื่อเจอคนที่ใช่ คุณจะรู้สึกถึงความสบายใจ
ในบางครั้งคนที่ใช่ ไม่ใช่เป็นคนที่สมบูรณ์แบบ แต่ เป็นคนที่ทำให้เรามีความสุขจริงๆเวลาที่อยู่ใกล้ และรักเราในแบบที่เราเป็น ไม่ใช่รักเราในแบบที่เขาอยากจะให้เราเป็น
แต่ในบางครั้งชีวิตของคนเราก็ไม่สามารถควบคุมได้เพราะ
“ ในบางครั้งคนที่ใช่ก็มาในช่วงเวลาที่ไม่ใช่ และบางครั้งคนที่ไม่ใช่ก็เข้ามาในช่วงเวลาที่ใช่ ”
โดย…สุทธิชัย ปัญญโรจน์(อาจารย์โทนี่)
www.drsuthichai.com
#image_title
by drsuthichai | Dec 14, 2024 | การศึกษา, ทั่วไป อื่นๆ
การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามกฎหมายมีอะไรบ้าง
โดย ทนายสุทธิชัย ปัญญโรจน์(ทนายโทนี่)
https://www.facebook.com/profile.php?id=61570145816740
การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามกฎหมาย มีด้วยกันทั้งสิ้นหลายรูปแบบเช่น
ข้อที่ 1 การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน กล่าวคือการได้มาโดยการขอออกโฉนดที่ดินทั้งตําบล และได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยขอออกโฉนดที่ดินเฉพาะราย
อ้างอิง พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 58 และ มาตรา 59
ข้อที่ 2 การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยนิติกรรม เช่น โดยการทำนิติกรรม ซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน ,จำนอง, ขายฝาก และต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ
ข้อที่ 3 การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยผลของกฎหมาย เป็นที่ดินที่ไม่ได้ไปแย่งใครมา แต่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น ที่ดินงอกริมตลิ่ง ซึ่งอาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เพราะน้ำในแม่น้ำได้พัดพาเอากรวดหินดินทรายมาถมแล้วก็เกิดการพอกพูนขึ้นทุกวันจนกลายเป็นที่ดินขึ้นมา ซึ่งตามหลักกฎหมายได้กําหนดให้ที่ดินงอกริมตลิ่งพวกนี้ ซึ่งเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินผืนเดิมที่เกิดที่ดินงอกริมตลิ่ง พวกนี้สามารถนําไปขอออกโฉนดได้ แต่ต้องไม่ใช่ที่ดินซึ่งเกิดจากการถมที่ดินเพิ่มเติม
ข้อที่ 4 การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ตามหลักกฎหมายโดยการครอบครองปรปักษ์
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1382 บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์ ในทางปฏิบัติ แม้จะเข้าองค์ประกอบตามมาตรา 1382 กำหนดแล้ว ก็ไม่ใช่จะได้มาได้โดยง่ายเพราะบุคคลที่อ้างการครอบครองปรปักษ์ที่ดินนั้น จะต้องดำเนินการ จ้างทนายความ พร้อมแสดงหลักฐาน ”ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์”
ก่อนศาลจะพิจารณาหรือมีคำสั่ง จะต้องกระบวนการต่างๆ โดยศาลจะมีหมายส่งไปยังเจ้าของที่ดิน ที่มีชื่อในกรรมสิทธิ์(โฉนด)ดังกล่าว เพื่อให้มาแสดงตนในการ “คัดค้าน”และศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ที่ครองครองกล่าวอ้างการครอบครองปรปักษ์ดำเนินการเกี่ยวกับการรังวัดที่ดินพิพาท และนำหลักฐานอื่นๆมาแสดงเช่น พยานบุคคล,ภาพถ่ายที่ดินที่ได้ครอบครอง,แผนที่ที่ดิน ฯลฯ เพื่อประกอบการพิจารณาในศาลด้วย
ในกรณีไม่มีผู้คัดค้านหรือเจ้าของที่ดินมาแสดงตน ศาลอาจจะมีคำสั่งให้บุคคลผู้ครอบครองที่ดินนั้นได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ และผู้ครอบครองนั้นจะต้องนำคำสั่งศาลไปติดต่อกรมที่ดินหรือสำนักงานที่ดินจังหวัด เพื่อขอเปลี่ยนแปลงชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวได้
ข้อที่ 5 การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ตามหลักกฎหมายโดยทางมรดก
ที่ดินมรดกนั้นจะต้องเป็นที่ดินมีเอกสารสิทธิ์หรือมีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ ตัวอย่างเช่น โฉนดที่ดินและถ้าเป็นที่มรดก เช่น นส.3 , สค.1 ก็ถือว่าเป็นที่ดินมือเปล่าหรือมีเพียงสิทธิครอบครอง การได้ที่ดินโดยมรดกนี้จะต้องมีการจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินก่อนจึงจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้
#image_title
by drsuthichai | Dec 14, 2024 | การศึกษา, ทั่วไป อื่นๆ
ที่ดินของเราเป็นที่ดินตาบอด ไม่มีทางเข้า-ออก เราจะมีวิธีการแก้ไขอย่างไรได้บ้าง?
โดย ทนายสุทธิชัย ปัญญโรจน์(ทนายโทนี่)
https://www.facebook.com/profile.php?id=61570145816740
ที่ดินตาบอด หรือ ที่ดินที่ไม่มีทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะ เรามีวิธีการแก้ไขตาม กฎหมายซึ่งอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ได้ 2 วิธี ดังนี้
1.ภาระจำยอม และ 2.ทางจำเป็น
1.ภาระจำยอม
ตามกฎหมายการได้มาซึ่งสิทธิของ “ภาระจำยอม” นั้น มี 2 ทาง คือ
1. การได้มาโดยผลทางกฎหมายหรือการได้มาโดยอายุความ เช่น ที่ดินของเราไม่มีทางเข้าออกเป็นที่ดินตาบอด แต่เราได้มีเจตนาในการขับรถผ่านที่ดินหรือใช้ทางผ่านที่ดินของ นาย ก. ไปไหนมาไหน โดยสงบและอย่างเปิดเผย ใครๆ ก็รู้ว่า เราได้ใช้ถนนหรือที่ดินของนาย ก. เป็นเส้นทางในการเข้าออกเป็นประจำ เป็นเวลา 10 ปี เช่นนี้แล้ว เราย่อมได้สิทธิตามกฎหมายตาม “ภาระจำยอม” เหนือที่ดินของของนาย ก. ทันที
2. การได้มาโดยผลทางนิติกรรม ตัวอย่าง เช่น นาย ฮ.มีที่ดินอยู่ทั้งหมด 2 แปลง และนาย ฮ.ได้ขายที่ดินแปลงหนึ่งให้แก่ เรา โดยมีข้อตกลงว่า เราสามารถใช้ทางบนที่ดินของนาย ฮ. อีกแปลงหนึ่งเป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะได้ เช่นนี้แล้ว เรา ย่อมได้สิทธิ “ภาระจำยอม” เหนือที่ดินของนาย ฮ.
ที่สำคัญการได้มาซึ่ง ภาระจำยอม โดยผลทางนิติกรรม จำเป็นต้องทำหนังสือสัญญาและต้องไปจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ ไม่อย่างนั้นจะถือว่าสัญญาไม่สมบูรณ์
2.ทางจำเป็น
หากของเรา เป็นที่ดินตาบอด ถูกล้อมรอบด้วยที่ดินของผู้อื่น ไม่มีทางเข้าออกไปถนนสาธารณะ เรามีสิทธิขอเปิด “ทางจำเป็น” กับเจ้าของที่ดินที่ปิดล้อมที่ดินของเราได้
การใช้สิทธิตามกฎหมายของ “ทางจำเป็น” เราไม่จำเป็นจะต้องทำเป็นหนังสือ หรือจดทะเบียนต่อหน้าเจ้าหน้าที่ เหมือนกับ “ภาระจำยอม” เพราะ “ทางจำเป็น” เป็นสิทธิตามกฎหมายอยู่ในตัวแล้ว เราซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินตาบอดสามารถขอใช้สิทธินั้นได้ เพียงแค่ต้องใช้ด้วยความสุจริต และเคารพต่อเจ้าของที่ดินที่เราไปขอที่ดินของเขา
การขอ “ ทางจำเป็น ” หรือการขอทำถนนหรือทางออก ก็ต้องใช้หลักพอสมควรแก่ความจำเป็น และจะต้องส่งผลกระทบต่อที่ดินที่ยอมให้ใช้ “ทางจำเป็น” ให้น้อยที่สุด โดยถือหลักว่า เราต้องเลือกทำถนนหรือทำทางออกที่ใกล้ถนนสาธารณะมากที่สุด และการใช้ “ทางจำเป็น” นั้น ที่สำคัญก็คือ เราหรือผู้ใช้ จะต้องจ่ายค่าทดแทน ให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่ที่ให้เราใช้ “ ทางจำเป็น” ด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อตกลงกันเอง ว่าจะจ่ายกันราคาเท่าไรกี่บาท
#image_title
by drsuthichai | Dec 10, 2024 | การศึกษา, ทั่วไป อื่นๆ
ที่ดิน สปก. ขายไปแล้ว รับเงินไปแล้ว อ้างว่าเป็น โมฆะ ฟ้องขับไล่คนซื้อที่ดิน สปก. ให้ออกไปจากที่ดิน จะทำได้ไหม?
โดย…ทนายสุทธิชัย ปัญญโรจน์ หรือ ทนายโทนี่
https://www.facebook.com/profile.php?id=61570145816740
ตอบ เดิม การซื้อขายที่ดิน ส.ป.ก.โดยส่งมอบการครอบครองให้แล้ว สัญญาซื้อขายเป็นโมฆะ (อ้างอิง จาก ฎีกาที่ 2293/2552 ) ต่อมาศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยว่า ผู้ขายที่ดิน ส.ป.ก.ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11165/2558)
พระราชบัญญัติ การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 39 ห้ามไม่ให้ซื้อขาย หากซื้อขายก็ถือว่าเป็นโมฆะตามมาตรา 150 (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)
พระราชบัญญัติ การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518
มาตรา 39 ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิ ในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร หรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่ก าหนดในกฎกระทรวง
หากมีการซื้อขาย ก็จะถือว่าเป็นโมฆะตามมาตรา 150 (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)
“มาตรา 150” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 150 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ “
ดังนั้น คนที่ซื้อก็ไม่มีสิทธิที่จะเข้าไปเป็นเจ้าของที่ดินได้ แต่ในทางกลับกัน หากไม่มีการทำประโยชน์ในที่ดิน แปลงดังกล่าว ที่ดิน สปก.แปลงนั้นก็จะตกไปเป็นของ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ สปก. และทาง. คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ สปก. ก็จะนำไปจัดสรรให้แก่เกษตรกรรายใหม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2293/2552 กรณีโจทย์-จำเลย ทำสัญญาซื้อ – ขายที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเป็นนิติกรรมที่เป็นโมฆะ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11165/2558 (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 10/2558)
ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน และเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่โจทก์เป็นผู้รับสิทธิทำประโยชน์ในที่ดินจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โจทก์ขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่ ท. เมื่อปี 2546 แล้ว ท. สละการครอบครองให้จำเลยทั้งสองเข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา แม้ก่อนฟ้องโจทก์กับ ท. ได้ทำบันทึกข้อตกลงว่าโจทก์จะคืนเงินให้แก่ ท. 110,000 บาท และ ท. จะคืนที่ดินพิพาทให้โจทก์ แต่โจทก์ก็มิได้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวคืนให้แก่ ท. แต่อย่างใด การที่โจทก์กลับมาอ้างเป็นผู้มีสิทธิตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 – 01 ก.) และมาฟ้องขอให้บังคับขับไล่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิจาก ท. จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาท
สำหรับประเด็น ที่ดินพิพาทที่มีปัญหา ก็เป็นเรื่องที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบหลักเกณฑ์ต่อไป
#image_title
by drsuthichai | Dec 8, 2024 | การศึกษา, ทั่วไป อื่นๆ
พูดเรื่องจริง จะฟ้องหมิ่นประมาทคนพูดได้หรือไม่
คำตอบ คือ ถึงแม้จะพูดเรื่องจริง ก็สามารถฟ้องหมิ่นประมาทได้(มาตรา 326) แต่ก็มีหลักกฎหมายที่ระบุว่า ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท(มาตรา 329) หรือ
มีข้อยกเว้นเที่ไม่ต้องรับโทษ (มาตรา 330 )
โดย….ทนายสุทธิชัย ปัญญโรจน์ (ทนายโทนี่)
https://www.facebook.com/profile.php?id=61570145816740
ตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดฐานหมิ่นประมาท
มาตรา ๓๒๖ ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม ( คำว่า “ใส่ความ” ตามภาษากฎหมาย คือ การพูดเรื่องอะไรก็ได้ที่ทำให้คนอื่นหรือผู้อื่นฟังแล้วเกิดความเสียหายกับผู้นั้น แม้จะเป็นเรื่องจริงก็ตาม)
แต่ก็มีหลักกฎหมายตามมาตรา 329 ที่ระบุว่า ผู้ที่ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ได้แก่บุคคลที่ซึ่งบัญญัติไว้ตามมาตรา 329 คือ
มาตรา 329 ประมวลกฎหมายอาญา คือ ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต
(๑) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
(๒) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
(๓) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
(๔) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม
ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท “
สำหรับหลักกฎหมาย ที่ได้รับการยกเว้นที่ไม่ต้องรับโทษ (มาตรา 330 )
มาตรา 330 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน
สรุปอีกครั้ง คือ
พูดเรื่องจริง จะฟ้องหมิ่นประมาทคนพูดได้หรือไม่
คำตอบ คือ ถึงแม้จะพูดเรื่องจริง ก็สามารถฟ้องหมิ่นประมาทได้(มาตรา 326) แต่ก็มีหลักกฎหมายที่ระบุว่า ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท(มาตรา 329) หรือ มีข้อยกเว้นเที่ไม่ต้องรับโทษ (มาตรา 330 )
#image_title